วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

วัฒนะรรมเเละธรรมเนียมสเปน

วัฒนธรรม

วัฒนธรรมสเปนมีรากฐานมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อิทธิพลของชาวไอบีเรียนเดิมและชาวละตินในคาบสมุทรไอบีเรีย ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ศาสนาอิสลามของชาวมัวร์ ความตึงเครียดในระหว่างการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของแคว้นคาสตีล และชนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ของชาติ รวมทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนยังมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างวัฒนธรรมสเปนด้วย

ธรรมเนียม

ในขณะที่ เซียสตา (siesta) หรือการพักจากการทำงานตอนบ่าย 1-2 ชั่วโมง (อาจจะนอนกลางวัน) กำลังลดลงโดยทั่วไป การดำเนินชีวิตใน 1 วันของชาวสเปนก็ค่อย ๆ มีความใกล้เคียงกับระเบียบของประเทศในทวีปยุโรปทั่วไปมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ร้านค้าและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งยังคงแบ่งเวลาทำการออกเป็นสองช่วง โดยจะพักระหว่างนั้น 2-3 ชั่วโมง การเดินเล่น (paseo) ในช่วงเย็นหรือหัวค่ำยังเป็นสิ่งที่ผู้คนในเมืองเล็กหลาย ๆ เมืองกระทำกัน (รวมทั้งเมืองใหญ่ก็เช่นกัน) ส่วนเวลารับประทานอาหารเย็นก็เรียกได้ว่าช้าที่สุดในยุโรป กล่าวคือจะเริ่มรับประทานกันเวลา 21.00 น. หรือ 22.00 น. ดังนั้นชีวิตกลางคืนจึงเริ่มขึ้นช้าตามไปด้วย มีคลับเต้นรำมากมาย (แม้แต่ในเมืองเล็กบางเมือง) ที่เปิดตอนเวลาเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้า

อาหาร


ตอร์ตียาเดปาตาตัส (Tortilla de patatas)


ซุปเย็นกัซปาโช (Gazpacho)
อาหารสเปนประกอบด้วยอาหารหลายประเภท ซึ่งเป็นผลมาจากความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิอากาศ เช่น อาหารทะเลก็หาได้จากพื้นน้ำที่ล้อมรอบประเทศอยู่นั้น และเนื่องจากประเทศสเปนมีประวัติความเป็นมายาวนานรวมทั้งวัฒนธรรมที่แตกต่างกันซึ่งทยอยเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนนี้ อาหารสเปนจึงมีความหลากหลายอย่างยิ่ง แต่เครื่องปรุงและส่วนผสมต่าง ๆ เหล่านั้นก็ได้ประกอบกันขึ้นเป็นอาหารประจำชาติที่มีความเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งตำรับการประกอบอาหารและรสชาตินับพัน อิทธิพลส่วนมากในอาหารสเปนมาจากวัฒนธรรมยิวและมัวร์ ชาวมัวร์เป็นชาวมุสลิมจากแอฟริกาซึ่งเคยมีอำนาจปกครองสเปนอยู่หลายศตวรรษ และอาหารของชาวมัวร์ก็ยังคงมีรับประทานกันอยู่จนทุกวันนี้ ตัวอย่างอาหารสเปนที่มีชื่อเสียง เช่น
  • อาร์โรซเนโกร (Arroz Negro) ข้าวผัดอาหารทะเล ปรุงด้วยหมึกดำจากปลาหมึก
  • โกซีโด (Cocido) สตูว์เนื้อและถั่วหลากชนิด
  • โชรีโซ (Chorizo) ไส้กรอกรสจัด
  • ชูเลตียัส (Chuletillas) เนื้อแกะ (ที่เลี้ยงด้วยนม) ย่าง
  • กัซปาโช (Gazpacho) ซุปเย็น ประกอบด้วยขนมปังและมะเขือเทศเป็นหลัก
  • ฟาบาดาอัสตูเรียนา (Fabada Asturiana) สตูว์ถั่ว
  • คามอนเซร์ราโน (Jamón serrano) แฮมหมักบ่มเป็นปี
  • ปาเอยา (Paella) ข้าวผัดเนื้อหรืออาหารทะเลใส่หญ้าฝรั่นและน้ำมันมะกอก มีหลายประเภท
  • เปสไกย์โตฟรีโต (Pescaito Frito) เนื้อปลาหมักและนวดแล้วนำไปทอด เป็นอาหารจากเมืองมาลากาและภาคตะวันตกของแคว้นอันดาลูเซีย
  • ตอร์ตียาเดปาตาตัส (Tortilla de patatas) หรือ ตอร์ตียาเอสปาโญลา (tortilla española) ไข่เจียวใส่มันฝรั่งและหัวหอม
  • ตูร์รอน (Turrón) ขนมหวานมีอัลมอนด์และน้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบ รับประทานเฉพาะในวันคริสต์มาส
  • กาลามารี (Calamari) ปลาหมึกทอด
  • ฟีเดวา (Fideuà) บะหมี่จากเมืองบาเลนเซีย
  • รีโอคา (Rioja) ไวน์จากแคว้นลารีโอคา
  • ซังกรีอา (Sangría) ไวน์พันช์

ดนตรี


ผู้แสดงระบำฟลาเมงโกที่เมืองเซวิลล์
ชิ้นงานดนตรีของสเปนได้แก่ ดนตรีคลาสสิกตะวันตกและดนตรีคลาสสิกอันดาลูเซีย รวมทั้งอุตสาหกรรมดนตรีป็อปภายในประเทศ และดนตรีชาวบ้าน (folk music) นอกจากนี้ สเปนสมัยใหม่ยังมีผู้เล่นดนตรีแนวร็อกแอนด์โรล เฮฟวีเมทัล พังก์ร็อก และฮิปฮอปเป็นจำนวนมาก
ดนตรีชาวบ้านหรือโฟล์กมิวสิกของสเปนที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดน่าจะเป็น ฟลาเมงโก (flamenco) มีต้นกำเนิดจากในแคว้นอันดาลูเซีย รูปแบบของฟลาเมงโกได้ผลิตนักดนตรีชาวสเปนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น นักร้องกามารอน เด ลา อิสลา (Camarón de la Isla) และนักกีตาร์การ์โลส มอนโตยา (Carlos Montoya)

นักเต้นระบำชาวอัสตูเรียส
นอกจากฟลาเมงโกแล้ว ดนตรีชาวบ้านของสเปนยังมีดนตรีตรีกีตีชา (trikitixa) และแอกคอร์เดียน จากแคว้นบาสก์ ดนตรีไกย์ตา (gaita - ปี่สกอตชนิดหนึ่ง) จากแคว้นกาลิเซียและอัสตูเรียส และโคตา (jota) จากแคว้นอารากอนและแม้ว่าประเพณีท้องถิ่นบางอย่างจะสูญหายไปแล้ว แต่บางอย่างก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่และได้รับการประยุกต์ดัดแปลงให้ทันสมัยเข้ากับรูปแบบและเครื่องดนตรีใหม่ ๆ เช่น ดนตรีเคลติก (Celtic music) ของกาลิเซีย นิวฟลาเมงโก(New Flamenco) เป็นต้น
ดนตรีสมัยใหม่ที่แตกต่างออกไปจากแนวพื้นบ้านเริ่มปรากฏในสเปนประมาณปี ค.ศ. 1959 (พ.ศ. 2502) จากนั้น ดนตรีพ็อปแนวเย-เย (Ye-yé) ก็เป็นที่นิยม ตามด้วยเพลงพ็อปและร็อกนำเข้าจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและอื่น ๆ ดนตรีสเปนทุกวันนี้ประกอบด้วยวงร็อกเป็นส่วนใหญ่ เช่น เอลกันโตเดลโลโก (El Canto Del Loco) และไดเกอส์ (Dikers) ดนตรีชนิดใหม่นี้ก็กำลังติดอันดับความนิยมในหลายชาร์ตของสเปน และน่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง

กีฬา

การกีฬาในสเปน จุดเด่นที่สุดคือ กีฬาฟุตบอล (fútbol) เช่นเดียวกับชาติอื่น ๆ ทั่วไปในยุโรป โดยมีลาลีกา (La Liga) เป็นลีกสำหรับฟุตบอลอาชีพของประเทศ สโมสรฟุตบอลใหญ่อย่างเรอัลมาดริด (Real Madrid) และบาร์เซโลนา(Barcelona) จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดสืบต่อกันมา ฟุตบอลทีมชาติสเปน (ซึ่งปัจจุบันมี อิเกร์ กาซึยาส (Iker Casillas) เป็นกัปตันทีม) ยังทำผลงานได้ดีในช่วงหลังๆ ซึ่งเคยได้ชัยชนะในการแข่งขันฟุตบอลยูโรในปี ค.ศ. 1964(พ.ศ. 2507) และสเปนได้แชมป์ยูโรปครั้งล่าสุดเมื่อปี 2008 ชนะทีมฟุตบอลจากประเทศเยอรมนีในรอบชิงชนะเลิศ โดยผู้ยิงประตูชันคือ เฟอร์นานโด ตอร์เรส แต่แล้ว ในปี2010 ฟุตบอลทีมชาติสเปน ก็ประสบความสำเร็จในการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ โดยชนะทีมชาติ เนเธอร์แลนด์ 1-0 จากการยิงของ อันเดรียส อีเนียสต้า นักเตะทีมบาร์เซโลน่า ซึ่งทำให้สเปน เป็นชาติที่ 8 ที่เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก และล่าสุด ทีมชาติสเปนนั้น เพิ่งจะคว้าแชมป์ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป(ยูโร 2012)(พ.ศ. 2555) โดยถล่มอิตาลี ทีมร่วมกลุ่มไปถึง 4ประตูต่อ0 ทีมชาติสเปนในฟุตบอลยูโร2012ยังสร้างสถิติใหม่ๆมากมาย เช่น เป็นทีมแรกที่ถล่มคู่ต่อสู้ในนัดชิงชนะเลิศได้ขาดลอยที่สุด , เป็นทีมที่เสียประตูน้อยที่สุด(เสียไปเพียงแค่ลูกเดียวในนัดแรกของกลุ่ม เสมออิตาลี 1-1) เป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์รายการใหญ่ได้ถึงสามครั้งติดต่อกัน ทางด้วน กีฬาเทนนิสนั้น สเปนได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันเดวิสคัป(Davis Cup) ในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) รวมทั้งมีราฟาเอล นาดัล (Rafael Nadal) ชาวสเปนจากแคว้นแบลีแอริกอยู่ในตำแหน่งมือวางอันดับ 2 ของโลก (ก.พ. 2550) ส่วนการแข่งขันจักรยานก็เป็นกีฬาหลักเช่นกัน มีการจัดการแข่งขันจักรยานทางไกลรอบประเทศ คือ บวยล์ตาเอสปาญา (Vuelta a España) และมีเกล อินดูราอิน (Miguel Indurain) จากแคว้นนาวาร์ เป็นหนึ่งในชาวสเปนเพียงห้าคนที่คว้าชัยชนะในการแข่งขันตูร์เดอฟรองซ์ (Tour de France) ที่มีชื่อเสียง
   


                                                                การสู้วัวกระทิง

 


        
กีฬาสู้วัวกระทิง (bullfighting) เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของสเปน แม้ว่าในช่วงหลังมานี้จะได้รับความสนใจลดลงบ้างและถูกองค์กรคุ้มครองสัตว์ต่าง ๆ ต่อต้าน กีฬานี้ก็ยังคงดำรงอยู่ได้อย่างดีในประเทศ ส่วนกีฬาท้องถิ่นอื่น ๆ ได้แก่ เปโลตา (Pelota) ควบคู่กับไฮอาไล (Jai Alai) เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเข้ามาในสเปนผ่านทางชาวมัวร์
ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ทัพนักกีฬาสเปนคว้าเหรียญรางวัลไปทั้งหมด 19 เหรียญ (3 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน และ 5 เหรียญทองแดง) อยู่ในอันดับที่ 20 และในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) นักกีฬาบาสเกตบอลของสเปนก็ได้รับเหรียญทองในการแข่งขันเวิลด์แชมเปียนชิปของสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติ (FIBA) ที่ประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ การแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ในระดับนานาชาติ สเปนยังประสบความสำเร็จในกีฬากรีฑาระยะกลาง (middle distance running) กอล์ฟ และแฮนด์บอลอีกด้วย

ภาษา


ภาษาต่าง ๆ ในสเปน (แบ่งอย่างง่าย) 
                                                                            
  คาตาลัน ภาษาทางการร่วม
  กาลิเซีย      ภาษาทางการร่วม
  บาสก์ ภาษาทางการร่วม
  อัสตูเรียส ไม่เป็นภาษาทางการ
  อารากอน ไม่เป็นภาษาทางการ
  อารัน ภาษาทางการร่วม (ภาษาถิ่นของอ็อกซิตัน)
  แม้ว่ารัฐธรรมนูญของสเปนจะยืนยันอำนาจอธิปไตยของชาติก็ตาม แต่ก็ยังรับรองเชื้อชาติอื่น ๆ ที่มีมาในประวัติศาสตร์ด้วย
  • ภาษาสเปน/ภาษาคาสตีล (Spanish/Castilian; español/castellano) เป็นภาษาทางการทั่วทั้งประเทศ แต่ในบางท้องถิ่นก็ยังใช้ภาษาถิ่นอื่น ๆ ซึ่งภาษาแรกที่ใช้พูดอีกด้วย รัฐธรรมนูญสเปนให้การรับรองภาษาท้องถิ่น (ที่อาจจะมี) ให้เป็นภาษาทางการร่วมตามแต่ละภูมิภาค โดยไม่ได้บอกชื่อภาษาไว้ ภาษาต่อไปนี้เป็นภาษาทางการร่วมกับภาษาสเปน (คาสตีล)
  • ภาษาคาตาลัน (Catalan; català) พูดในแคว้นคาเทโลเนีย หมู่เกาะแบลีแอริก และบางส่วนของแคว้นบาเลนเซีย (เรียกว่าภาษาบาเลนเซีย)
  • ภาษากาลิเซีย (Galician; galego) พูดในแคว้นกาลิเซีย
  • ภาษาบาสก์ (Basque; euskara) พูดในแคว้นบาสก์และบางส่วนของแคว้นนาวาร์ ภาษานี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาอื่น ๆ เลย
  • ภาษาอ็อกซิตัน (Occitan) (ภาษาถิ่นอารัน) พูดกันในบัลดารัน แคว้นคาเทโลเนีย
ทั้งภาษาคาตาลัน ภาษากาลิเซีย ภาษาอารัน (อ็อกซิตัน) และภาษาคาสตีลต่างสืบทอดมาจากภาษาละติน บางภาษาก็มีภาษาถิ่นของตนเอง ซึ่งภาษาถิ่นบางภาษาก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้พูดภาษาถิ่นนั้นให้เป็นอีกภาษาหนึ่งต่างหากด้วย กรณีพิเศษได้แก่ ภาษาบาเลนเซีย (Valencian) เป็นชื่อที่เรียกภาษาถิ่นภาษาหนึ่งของภาษาคาตาลัน ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นภาษาทางการร่วมในแคว้นบาเลนเซีย

นอกจากนี้ ยังมีภาษาของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในกลุ่มภาษาโรมานซ์ คือ ภาษาอัสตูเรียส / เลออน (Asturian / Leonese) พูดกันในแคว้นอัสตูเรียสและบางส่วนของจังหวัดเลออน เมืองซาโมรา และเมืองซาลามังกา ภาษาเอกซ์เตรมาดูรา(Extremaduran) ใช้กันในจังหวัดกาเซเรสและจังหวัดซาลามังกา (ทั้งสองภาษาดังกล่าวสืบทอดมาจากภาษาถิ่นในอดีตของภาษาอัสตูร์-เลออน) ภาษาอารากอน (Aragonese) มีผู้พูดกันในพื้นที่บางส่วนของแคว้นอารากอน; ภาษาฟาลา (Fala) ยังมีผู้พูดอยู่บ้างในหมู่บ้านสามแห่งของแคว้นเอกซ์เตรมาดูรา และภาษาโปรตุเกส (ภาษาถิ่น) ที่ใช้กันในบางเมืองของแคว้นเอกซ์เตรมาดูราและแคว้นคาสตีล-เลออน อย่างไรก็ตาม ภาษาเหล่านี้ก็ไม่ได้มีสถานะเป็นภาษาทางราชการอย่างที่ภาษาคาตาลัน ภาษากาลิเซีย และภาษาบาสก์มี
ภาษาถิ่นอันดาลูเซีย (Andalusian dialect) หรือ อันดาลุซ (Andaluz) พูดในแคว้นปกครองตนเองอันดาลูเซียและยิบรอลตาร์ โดยมีความแตกต่างจากภาษาคาสตีลในเรื่องการออกเสียงหลายประการ ซึ่งบางประการได้เข้าไปมีอิทธิพลในภาษาสเปนแบบลาตินอเมริกา ข้อแตกต่างเหล่านี้เห็นได้ในเรื่องสัทวิทยา (phonology) เช่นเดียวกับการใช้ทำนองเสียง (intonation) และคำศัพท์ (vocabulary)
ในย่านท่องเที่ยวตามชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนและหมู่เกาะ นักท่องเที่ยว ผู้อยู่อาศัยชาวต่างชาติ และผู้ทำงานท่องเที่ยวจะพูดภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน ผู้ย้ายถิ่นชาวแอฟริกาและผู้สืบเชื้อสายชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นจะพูดภาษายุโรปที่เป็นทางการของบ้านเกิดพวกเขา (ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรตุเกส ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส หรือครีโอลท้องถิ่น)

ศาสนา


มหาวิหารซานเตียโกเดกอมโปสเตลา(Catedral of Santiago de Compostela) ในแคว้นกาลิเซีย
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ (เช่น เวิลด์แฟกต์บุ๊ก 2005 ของซีไอเอ ผลการสำรวจอย่างเป็นทางการของสเปน และแหล่งอื่น ๆ) ชาวสเปนร้อยละ 81-94 นับถือศาสนาคริสต์นิกายดังกล่าว ในขณะที่ประมาณร้อยละ 6-19 นับถือศาสนาอื่นหรือไม่นับถือศาสนาใดเลย อย่างไรก็ตาม ชาวสเปนจำนวนมากที่ระบุว่าตนเองเป็นชาวคาทอลิกเนื่องจากได้เข้าพิธีศีลล้างบาปเท่านั้น ไม่ได้เคร่งศาสนาเท่าใดนัก อีกการสำรวจหนึ่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) โดยศูนย์สืบสวนทางสังคมวิทยาสเปน แสดงให้เห็นว่าชาวสเปนร้อยละ 54 แทบจะไม่หรือไม่เคยไปโบสถ์เลย ในขณะที่ร้อยละ 15 ไปโบสถ์บางครั้งต่อปี ร้อยละ 10 ไปบางครั้งต่อเดือน และร้อยละ 19 ไปเป็นประจำทุกวันอาทิตย์หรือหลายครั้งต่อสัปดาห์
ชาวคริสต์โปรเตสแตนต์ก็มีเช่นกันในสเปน แต่มีจำนวนน้อยกว่า 5 หมื่นคน เช่น นิกายอีแวนเจลิคัล(Evangelism) ซึ่งนับถือกันในหมู่ชาวยิปซี นิกายมอร์มอน (Mormons) และลัทธิพยานพระยะโฮวาห์ (Jehovah's Witnesses)
คลื่นอพยพในระยะหลังได้เพิ่มจำนวนชาวมุสลิมมากขึ้น ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน ชาวมุสลิมไม่ได้อาศัยอยู่ในสเปนมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ อย่างไรก็ตาม การขยายดินแดนอาณานิคมในแอฟริกาตอนเหนือและตะวันตกก็ได้ให้สถานะความเป็นพลเมืองสเปนแก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในสแปนิชโมร็อกโกและสแปนิชสะฮารา ทุกวันนี้ ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในสเปน รองจากศาสนาคริสต์ (นิกายโรมันคาทอลิก) โดยชาวมุสลิมในสเปนคิดเป็นร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด แต่ชาวลาตินอเมริกา ซึ่งมักจะนับถือคาทอลิกอย่างแรงกล้าและเข้ามาพร้อมกับกระแสการอพยพดังกล่าวนี้ ก็ช่วยเพิ่มจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ให้กับศาสนจักรเช่นกัน
ในทางปฏิบัติแล้ว ศาสนายูดายไม่ปรากฏในสเปนจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งชาวยิวได้รับอนุญาตให้กลับเข้าประเทศอีกครั้ง ปัจจุบันมีชาวยิวในสเปนประมาณ 5 หมื่นคน คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด เชื่อกันว่าสเปนมีชาวยิวประมาณร้อยละ 8 ในช่วงเวลาก่อนการจัดตั้งศาลไต่สวนทางศาสนา







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น